เรื่องน่าทึ่งของหนังสือและนักเขียน
การสะสมแสตมป์มีต้นกำเนิดมาจาก "การชอบของไม่เสียภาษี?"
เมื่อก่อนนี้การจดหมายนั้นผู้ส่งไม่ต้องเสียเงิน แต่ผู้รับเป็นฝ่ายต้องชำระเงิน หากผู้รับปฏิเสธที่จะรับจดหมาย ที่ทำการไปรษณีย์ก็จะต้องขาดทุน ในปี 1837 อาจารย์ใหญ่ชาวอังกฤษผู้มีนามว่า Rowland Hill ได้เสนอให้มีการชำระค่าแสตมป์ล่วงหน้าในจุลสารชื่อว่า "การปฏิรูปที่ทำการไปรษณีย์" แสตมป์ดวงแรกวางขายในวันที่ 1 พฤษภาคม 1840 แสตมป์ราคาหนึ่งเพนนีเป็นแสตมป์สีดำ ส่วนสีน้ำเงินราคาสองเพนนี โดยมีพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียพิมพ์อยู่บนแสตมป์ คำว่า สะสมแสตมป์ ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1864 โดยมาจากคำสองคำในภาษากรีกที่มีความหมายว่า "การชอบของไม่เสียภาษี"
นวนิยายมักถูกมองว่าเป็นความบันเทิงเบาสมองมาตลอด จวนเจียนจะเข้าข่ายว่า ไร้สาระ ด้วยซ้ำ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากคำว่านวนิยายนั่นเอง คำว่านวนิยาย (novel) มีต้นกำเนิดมาจากคำว่า novus ซึ่งเป็นคำละตินที่แปลว่า "ใหม่" และคำนี้เข้ามาในประเทศอังกฤษด้วยคำว่า novella ซึ่งเป็นภาษาอิตาลีที่มีความหมายว่าเรื่องสั้น novella เป็นงานเขียนนิยายร้อยแก้วขนาดสั้นที่เล่าเรื่องใหม่ไม่ซ้ำใคร ไม่ใช่เรื่องเรื่องเดิมๆ ที่นำมาเล่าซ้ำ
หมายความว่าเรื่องราวที่อยู่ใน novella ต้องเป็นเรื่องใหม่ และเป็นความบันเทิงแบบใหม่สำหรับผู้อ่าน ซึ่งผู้อ่านเองก็ให้การตอบรับอย่างดี ปัจจุบันเราสามารถแบ่งนวนิยายออกได้หลายประเภท ทั้งนวนิยายโรมานซ์ สายลับ นวนิยายตะวันตก เรื่องลึกลับ สืบสวนสอบสวน นวนิยายแบบก็อท นวนิยายแนววิทยาศาสตร์ อิงประวัติศาสตร์ นวนิยายเกี่ยวกับสถานที่ นวนิยายเกี่ยวกับชีวิตแห่งอารมณ์และจิตที่ซับซ้อนของตัวละคร นวนิยายในรูปของจดหมาย (ซึ่งเล่าเรื่องผ่านข้อความในจดหมายที่เขียนถึงกัน) นวนิยายอิงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง (ซึ่งจำเป็นต้องมี "กุญแจที่นำไปสู่ประตูสำคัญ" หรือข้อมูลประกอบเพิ่มเติม) นวนิยายเกี่ยวกับศาสนา นวนิยายเกี่ยวกับชนชั้นกรรมาชีพ และนวนิยายเริงรมย์สมัยใหม่
ก่อนที่โยฮันเนส กูเท็นเบอร์กจะประดิษฐ์แท่นพิมพ์ในปี 1454 ทั่วทั้งยุโรปมีหนังสืออยู่ประมาณ 30,000 เล่ม หรือเกือบเท่ากับคัมภีร์ไบเบิ้ลหรือคำอธิบายเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิ้ลทั้งเล่มเท่านั้น ต่อมาในปี 1500 มีหนังสือเพิ่มขึ้นมากกว่า 9 เล่ม และจนถึงทุกวันนี้มีหนังสือรวมกันมากกว่าล้านล้านเล่มแล้ว
ห้องสมุดทั่วโลกเก็บหนังสือที่ตีพิมพ์ครั้งแรกรวมแล้วมากกว่า 100 ล้านเล่ม โดยในจำนวนนี้ 24 ล้านเล่มเก็บอยู่ในห้องสมุดรัฐสภาของสหรัฐฯ แค่ Amazon.com แห่งเดียวก็เก็บหนังสือไว้มากถึง 2.5 ล้านเล่ม กระนั้น ที่น่าเศร้าใจก็คือ ยังมีคนอีกถึง 2,000 คนทั่วโลกที่อ่านหนังสือไม่ออก
ที่มา: The Economist World in Figures 2000